Thai English





 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
  1.ด้านกายภาพ

        1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
        สภาพทั่วไปของเมืองนครศรีธรรมราช
        เมืองนครศรีธรรมราช
เมืองนครศรีธรรมราชคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่มีหลักฐานย้อนหลังไปมากกว่า 1,500 ปี
เมืองนี้ก่อตัวอยู่บนสันทรายที่เรียกว่า หาดทรายแก้ว ซึ่งทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ทำให้การตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่บนสันทราย ตัวเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีลักษณะยาวมาจนถึงปัจจุบันผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ส่วนหนึ่งคือ คนไทย ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ดั้งเดิม และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นและการค้าจากอินเดียและจีนและส่วนใหญ่คือ ชาวมุสลิม จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวยุโรปที่เดินทางมาติดต่อค้าขายในอดีต ให้ชื่อไว้ในแผนที่ของตน เรียกเมืองนี้ว่า ลิกอร์ ( Ligor) จากประวัติความเป็นมา ของบ้านเมืองอันยาวนาน จึงทำให้นครศรีธรรมราชมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต การนับถือศาสนาแตกต่างกันแต่อยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขจากที่เคยเป็นเมืองอิสระ และมีเมืองบริวารกว้างขวาง ค่อยๆ คลี่คลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมีฐานะเป็นมณฑลและจังหวัดในปัจจุบัน ชุมชนบนสันทรายแห่งนี้ มีความเจริญและ มีความหน้าแน่นขึ้นเป็นลำดับ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดตั้งให้ชุมชนขนาดใหญ่เป็นเขต ปกครองท้องถิ่น ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับการยกฐานะให้เป็น เทศบาลเมืองและเทศบาลนครตามลำดับ ปัจจุบันเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มิได้จำกัดอยู่แค่บนสันทราย แต่จะขยายออกไปทั้งทางตะวันออกและตะวันตก ของสันทรายจนมีเนื้อที่ถึง 22.56 ตารางกิโลเมตร มีประชากรเกินกว่า 100,000 คน

           ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
         ลักษณะทั่วไป

จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ระหว่างประมาณละติจูด 8 องศา ถึง ๙ องศา 10 ลิปดาเหนือ และ ลองจิจูด ๙๙ องศา ๑๕ ลิปดา ถึง 100 องศา 10 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ 9,942.50 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่างๆ ดังนี้
  - ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานี และอ่าวบ้านดอน อำเภอขนอม เป็นอำเภอเหนือสุด
  -ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง อำเภอทางตอนใต้ ได้แก่ อำเภอหัวไทร อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง และอำเภอบางขัน
  -ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยมีชายฝั่งทะเลยาว ๒๒๕ กิโลเมตร อำเภอที่ติดต่อกับอ่าวไทย คือ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร
  -ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจังหวัดกระบี่ อำเภอทางทิศตะวันตก ได้แก่ อำเภอบางขัน อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอฉวาง อำเภอพิปูน และอำเภอนบพิตำ

         ที่ตั้ง พื้นที่ อาณาเขต ปัจจุบันเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 22.56 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลปากพูน
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลท่าเรือ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลปากพูน ตำบลปากนคร และตำบลท่าไร่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลโพธิ์เสด็จ ตำบลมะม่วงสองต้น และตำบลนาเคียน
         พื้นที่ในเขตเทศบาลประกอบด้วย ตำบลในเมือง ตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลนาเคียน บางส่วนของหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลโพธิ์เสด็จ หมู่ที่ 1 ทั้งหมด หมู่ที่ 2,3,7 และ 8 บางส่วน

         1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
        จังหวัดนครศรีธรรมราชมีเทือกเขานครศรีธรรมราชและเทือกเขาบรรทัดทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ อยู่บริเวณตอนกลางของจังหวัด จึงอาจแบ่งภูมิประเทศออกเป็น 3 ส่วน ต่อไปนี้
        ส่วนที่ 1 เขตที่ราบชายฝั่งตะวันออก เป็นที่ราบที่มีอาณาเขตตั้งแต่เทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาบรรทัดไปทางตะวันออก จนถึงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีแม่น้ำลำคลองที่มีต้นไม้บริเวณเทือกเขาลงสู่ทะเลหลายสายอยู่ตลอดทั้งปี และบางตอนเป็นป่าพรุขนาดใหญ่ เขตที่ราบนี้มีพื้นที่ตั้งแต่ตอนเหนือสุดของจังหวัด และค่อยมีอาณาเขตกว้างขึ้น เมื่อลงไปทางทิศใต้เหมาะสำหรับการทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์และทำการประมงชายฝั่งเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นเป็นที่ตั้งของอำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ และพระพรหม
        ส่วนที่ 2 เขตที่ราบเชิงเขาตะวันตก มีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก มีอาณาเขตจากเทือกเขานครศรีธรรมราชไปทางตะวันตก ต้นน้ำจากเชิงเขาด้านนี้ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน เป็นแม่น้ำตรังและไหลลงสู่อ่าวไทย คือ แม่น้ำตาปี นอกจากจะเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยแร่ธาตุแล้วเป็นเขตที่มีการทำสวนยางพารามากที่สุดในจังหวัด การทำสวนผลไม้มีกระจายอยู่ทั่วไป อำเภอที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ อำเภอทุ่งสง และอำเภอฉวาง เขตที่ราบเชิงเขาด้านนี้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปถึงจังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี อำเภอที่อยู่ในเขตนี้ ได้แก่ อำเภอพิปูน ฉวาง ทุ่งใหญ่ ทุ่งสง บางขัน ถ้ำพรรณรา นาบอน และอำเภอช้างกลาง
        ส่วนที่ 3 เขตเทือกเขาตอนกลาง อยู่ระหว่างที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก และที่ราบเชิงเขาตะวันตก อาณาเขตตั้งแต่ตอนเหนือสุดของจังหวัดไปถึงใต้สุด เทือกเขานครศรีธรรมราชมียอดสูงสุดคือเขาหลวงรัฐพยายามที่จะอนุรักษ์เขาดังกล่าวนี้ เป็นเขตป่า จึงจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อุทยานแห่งชาติเขานัน เป็นต้น มีการตั้งถิ่นฐานของประชาชนมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ จึงมีชุมชนอยู่ระหว่างภูเขาและเชิงเขาตอนกลาง ส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตรกรรม พื้นที่ในเขตนี้ มีธรรมชาติที่สวยงาม ประกอบด้วย ป่าไม้ น้ำตก และธารที่ใสสะอาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ อำเภอที่อยู่ในเขตนี้ ได้แก่ อำเภอพรหมคีรี ลานสกา ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ และอำเภอนบพิตำ

         1.3 ลักษณะภูมิอากาศ ภูมิอากาศของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ที่ติดต่อกับอ่าวไทย อิทธิพลสำคัญต่อภูมิอากาศของจังหวัด คือลมมรสุม และเทือกเขาตอนกลาง รวมทั้งอิทธิพลของลมพายุหมุนพัดเข้ามาในรอบปี ลักษณะอุณหภูมิจะสูงตลอดทั้งปี ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคมจะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมร้อนชื้นพัดเข้าสู่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ทำให้พื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขานครศรีธรรมราชมีฝนตกมาก ส่วนบริเวณชายฝั่งตะวันออกมีฝนตกน้อยกว่า ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม จะมีลมพายุหมุน เช่น ดีเปรสชั่นทำให้เกิดฝนตกทั่วไปทั้งจังหวัด ช่วงเดือน พฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม ลมมรสุมจะเปลี่ยนทิศทางพัดมาจาก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไปลมนี้จะเป็นลมหนาวและแห้งแล้งแต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช ด้านอ่าวไทยจะมีฝนตกชุม เป็นเหตุที่เกิดน้ำท่วมได้ทุกปี หลังจากนั้นจะเป็นระยะที่ฝนทิ้งช่วง คือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือน เมษายน ช่วงนี้อากาศจะร้อนและแห้งแล้ง

          1.4 ลักษณะของดิน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ดินมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเขตพื้นที่ ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย และบางส่วนเป็นดินคละ ดินนา ดินตื่น

         1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ ลักษณะของแหล่งน้ำเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งน้ำดิบที่นำมาทำน้ำประปา เดิมได้น้ำดิบจากคลองป่าเหล้า ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณการประปาที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ประมาณ 550 เมตร ปัจจุบันมีปัญหาเนื่องจากปริมาณน้ำในลำคลองมีปริมาณน้อยลงทุกปี น้ำขุ่นและสกปรกเมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจะพาตะกอนและสิ่งสกปรกต่างๆ ตามริมคลองลงไปในคลองป่าหล้า และเทศบาลได้รับเงินอุดหนุนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบจากคลองท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช มายังโรงกรองน้ำทวดทองแต่เนื่องจากโรงกรองน้ำที่ได้รับน้ำจากท่อน้ำดิบจากคลองท่าดี อำเภอลานสกา มีเพียงโรงเดียว ซึ่งทำให้กำลังผลิตไม่เพียงพอ ต่อการใช้น้ำประปาของประชาชนในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

   เทศบาล
  เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองรูปแบบเทศบาลเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการประกาศพระราชกำหนดจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ในส่วนภูมิภาค มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอม ร.ศ. (พ.ศ.2448)
  ในปี พ.ศ.2476 มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 มีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่งต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง
  จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมทั้งหมดขณะนี้ยังมีผลบังคับใช้ซึ่งมีการแก้ไขครั้งสุดท้ายโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 13 ) พ.ศ.2552 ในปี พ.ศ.2542 มีการออกพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542 ทำให้การปกครองในระบบสุขาภิบาลหมดไป พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 ได้กำหนดขนาดของเทศบาลไว้ 3 ระดับ คือ
        1. เทศบาลตำบลคือท้องถิ่นที่มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลโดยประกาศนั้นจะต้องระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
        2. เทศบาลเมืองคือท้องถิ่นเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หมื่นคนขึ้นไปทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมืองโดยประกาศนั้นจะต้องระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
        3. เทศบาลนครคือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หมื่นคนขึ้นไปทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้และมีประกาศนั้นจะต้องระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

         หน้าที่ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชในฐานะที่เป็นเทศบาลนคร จึงมีหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตราที่ ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังนี้
1. กิจการที่ระบุไว้ในมาตราที่ 53 คือ
  1.1 กิจการที่ระบุไว้ในมาตรา 50 คือ รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน,ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ,รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินสาธารณะรวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล,ป้องกันและระงับโรคติดต่อ,ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง,ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม,ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ,บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
  1.2 ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
  1.3 ให้มีโรงฆ่าสัตว์
  1.4ให้มีและบำรุงสถานที่ที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้
  1.5 ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
  1.6 ให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ
  1.7 ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
  1.8 ให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
2. ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
3. กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณะกุศล
4. การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
5. จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
6. จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
7. การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
8. การส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว

        ทั้งนี้เทศบาลนครยังสามารถจัดทำกิจการอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๕๔ ได้เช่น การจัดให้มีสุสานและฌาปนสถาน การบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร การจัดตั้งและบำรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา การจัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา การจัดให้มีและบำรุงสวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และการจัดการเทศพาณิชย์ เป็นต้น

        ตามบทบัญญัติมาตราที่ ๖๖ กำหนดว่าเทศบาลอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
  1. ภาษีอากรตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
  2. ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
  3. รายได้จากทรัพย์สินของเทศบาล
  4. รายได้จากการสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์
  5. พันธบัตรหรือเงินกู้ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
  6. เงินกู้จากกระทรวงทบวงกรม องค์กร หรือนิติบุคคลต่างๆ
  7. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  8. เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
  9. รายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

        การบริหารเทศบาลกระทำโดยมีนายยกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อยู่ในวาระครั้งละ 4 ปี และให้นายยกเทศมนตรีแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีเป็นผู้ช่วยในการบริหารราชการโดยเทศบาลระดับเทศบาลนครจะสามารถมี รองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน รวมทั้งสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรีได้และให้มีสภาเทศบาลเป็นองค์กรในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารรวมถึงเป็นที่ปรึกษาและร่วมวินิจฉัยปัญหาสำคัญตามที่ฝ่ายบริหารเสนอมา
        สภาเทศบาลระดับเทศบาลนคร มีสมาชิกสภาจำนวนยี่สิบสี่คน มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนวาระ 4 ปี และผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 1 คน ตามมติของสมาชิกสภาเทศบาลให้แบ่งส่วนราชการของเทศบาลออกเป็นสองส่วนคือ
  1. สำนักปลัดเทศบาล
  2. ส่วนราชการอื่นตามที่นายกเทศมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทยและให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นๆ ให้ปฏิบัติในการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลและ ตรวจสอบกิจการเรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตรวจตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้และให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลตำบลในอำเภอนั้นๆ ด้วย
         เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเดิมได้รับการจัดตั้งเป็นสุขาภิบาล เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2453 ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาล ตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือ ตำบลพระเสื้อเมือง ท้องถิ่นอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 หน้า 62 – 64 ลงวันที่ 13 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 129 โดยมีพระยาศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทม) ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นประธานการสุขาภิบาลคนแรก
         พ.ศ.2474 มีการประกาศเปลี่ยนแปลงเขตต์สุขาภิบาล เมืองนครศรีธรรมราชเนื่องจากมีใบบอกจากสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชว่าเขตต์สุขาภิบาลคลาดเคลื่อนคณะกรรมการการสุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราชจึงประชุมและมีมติเห็นควรมีปะกาศเปลี่ยนแปลงเขตต์ฯ ให้ตรงกับความเป็นจริงและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงเห็นชอบและลงพระนามในประกาศดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 หน้า 674 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2474
         วันที่ 7 ธันวาคม 2478 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๔๗๘ จัดตั้งเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช โดยให้โอนทรัพย์สินตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราชป็นของเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 หน้า 1687 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2478 มีพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามมติคณะรัฐมนตรี
         ปี พ.ศ. 2508 มีการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ครั้งที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ.2508 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่
         ปี พ.ศ.2536 มีการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ครั้งที่ 2 ตามราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2536 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 110 ตอนที่ 207 หน้า 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2536 มีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
         ปี พ.ศ.2537 ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ.2537 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 36 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2537 ซึ่งกำหนดให้ยกฐานะพระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับพ้นกำหนด 45 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยเหตุนี้เมื่อถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2537 จึงมีผลให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
         ปัจจุบันเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ในความดูแลรวมทั้งสิ้น 22.56 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วย ตำบลในเมือง ตำบลท่าวัง ตำบลคลัง บางส่วนของหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ของตำบลนาเคียน ตำบลโพธิ์เสด็จหมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 2,3,7, และ 9
         แต่เดิมนั้นสถานที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตั้งสำนักงานอยู่ที่ห้องแถวตอนหน้าศาลากลางจังหวัด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงได้ย้ายมาอยู่ ณ อาคารเรือนไม้ทรงมานิลาชั้นเดียว (สถานที่ทำงานปัจจุบัน) พ.ศ.2505 ได้เกิดวาตภัยขึ้นอย่างร้ายแรง และจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากประชาชนเสียชีวิตนับพันคน อาคารบ้านเรือน สวนผลไม้ ไร่ นา ได้รับความเสียหาย สำนักงานเทศบาลซึ่งมีสภาพเก่าชำรุดอยู่แล้วก็ได้รับความเสียหายมาก แม้ว่าจะได้ซ่อมแซมพอให้ทำงานได้ ก็ไม่มีสภาพเหมาะแก่กาลสมัยและฐานะของเทศบาล คณะเทศมนตรี จึงดำเนินการขออนุมัติกู้เงิน กสท. จำนวน 1,200,000 บาท สมทบกับงบประมาณของเทศบาล 525,000 บาท มาดำเนินการสร้างใหม่ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน ในครั้งนั้นได้สร้างเป็นอาคารตึกสองชั้นทรงไทยตามแบบเทศบาลขนาดใหญ่ ของกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานของเทศบาลทั่วไปและได้ทำพิธีเปิดใช้สำนักงานนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2507 รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,725,000 บาท ทำการก่อสร้างโดย บริษัท กรุงเทพฯ วิวัฒน์ จำกัด ในสมัยของนายเหรียญ สร้อยสนธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
         ตราเครื่องหมายเทศบาลในปัจจุบันเป็นรูปราชสีห์เฝ้าพระธาตุ พระธาตุนั้นหมายถึง เจดีย์พระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุโบราณในทางพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง เมื่อกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชย่อมนึกถึงพระบรมธาตุ
         ยอดเจดีย์มีรัศมี หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งประดุจแสงสว่าง
         ประดิษฐานอยู่บนพาน 2 ชั้น หมายถึง เป็นที่เคารพบูชาและเทิดทูนของชาวนครศรีธรรมราชและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
         ราชสีห์คู่เฝ้าพระธาตุ หมายถึง เทศบาลซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการรักษา ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
         ปัจจุบันสามารถติดต่อกับเทศบาลเมืองนครนครศรีธรรมราชได้ที่สำนักงานเทศบาศบาลนครนครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 โทรศัพท์ 0-7580-9571 โทรสาร 0- 07534-7402 หรือ http://www.nakhoncity.org


สำนักงานเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
Nakhon Si Thammarat Municipality

tel. +66-7580-9571, แฟ็กซ์ +66-7534-7405
E-mail adress: saraban_03800102@dla.go.th
POWERBYICTCENTER

ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : saraban_03800102@dla.go.th

สถิติจำนวนผู้เข้าชม