Thai English


  1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

         ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ ภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เป็นที่หมายไว้ ต่อมาในปีมหาศักราช 1098 (พ.ศ.1719) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์มีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงลังกาสูง 55.78 เมตร  (กรมศิลปากรวัดเมื่อการบูรณะปลียอดทองคำเมื่อ พ.ศ.2538) จากฐานบัวคว่ำบัวหงายถึงปลียอด6.80 เมตร ใช้ทองคำเนื้อสิบหุ้มโดยรอบ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่มีความสำคัญหลายองค์ประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงมีความงามตามแบบศิลปสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า "พระศรีธรรมาโศกราช" ประดิษฐานอยู่ วิหารพระมหาภิเนษกรม (พระทรงม้า) วิหารทับเกษตร ส่วนวิหารเขียน และวิหาร โพธิ์ลังกานั้นเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา






  2. พระวิหารสูง

         หรือหอพระสูง เป็นปูชยสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน เรียกชื่อตามลักษณะของการ ก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติดถึง2.10 เมตร สันนิฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียวสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย






3. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ 11 นครศรีธรรมราช

         พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดสวนหลวงตะวันออกมาก่อนตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2517 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบในแถบภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และชุมพร มีห้องแสดงศิลปหัตถกรรมของใช้พื้นบ้าน ส่วนสาขาหอสมุดแห่งชาติเปิดบริการให้ประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2519 มีหนังสือเก่าที่หายาก และหนังสือสำคัญอื่น ๆ ส่งมาจากหอสมุดแห่งชาติส่วนกลางไว้ศึกษา






4. พระพุทธสิหิงค์

         ประดิษฐานภายในหอพระพุทธสิหิงค์บริเวณศาลากลางจังหวัด เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ลังกาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และมาอยู่ประเทศไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันพระพุทธสิงหิงค์ ในประเทศไทยมีอยู่ 3 องค์ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พระวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราชหอพระพุทธสิหิงค์นี้เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร (น้อย) ภายในหอแบ่งเป็นสองตอน ตอนหน้าเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธสิหิงค์และพระลากเงิน พระลากทอง ส่วนหอ ตอนหลังเป็นที่บรรจุอัฐิของสกุล ณ นคร






5. หอพระอิศวร

         อยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรและฐานโยนิ รวมทั้งเทวรูปสำริดอีกหลายองค์ อาทิ เทวรูปศิวนาฎราชพระอุมา และพระพิฆเนศ ปัจจุบันเทวรูปสำริดในหอพระอิศวรเป็นของจำลอง ของจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช






6. หอพระนารายณ์

         ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์อีกแห่งหนึ่ง ตรงกันข้ามกับหอพระอิศวร สิ่งที่พบภายในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทาทรงหมวกรูปกระบอกปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ ราวพุทธศตวรรษ ที่ 10-11 ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โบราณวัตถุที่ตั้งแสดงอยู่ในหอพระนารายณ์ขณะนี้คือ เทวรูปพระนารายณ์จำลองจากองค์จริงที่พบในแหล่งโบราณคดีแถบอำเภอสิชล






7. สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดชายนา

         ตั้งอยู่ที่ถนนพัฒนาการทุ่งปรัง เป็นสถานที่ที่มีการสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อให้เป็นสาขาของวัดสวนโมกข์ บรรยากาศในวัดร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่






8. วัดท้าวโคตร
         วัดท้าวโคตรเดิม ตั้งอยู่ในตำบลนา อำเภอเมือง ปัจจุบันยุบเป็นตำบลในเมือง เป็นวัดเก่าแกวัดหนึ่ง ปัจจุบันวัดนี้ได้รวมพื้นที่วัดร้างจำนวนห้าวัดเข้าด้วยกัน คือ วัดศก วัดชายนา วัดวา วัดธาราวดี (วัดไปไหม้) และวัดท้าวโคตร ทำให้บริเวณกว้างขวาง
ภายในบริเวณมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ เจดีย์แบบศรีวิชัย อยู่ในสภาพปรักหักพังเหลือเพียงซากของฐาน ภายในประอุโบสถมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ ศิลปะแบบต้นรัตนโกสินทร์ ท่านเจ้าอาวาสวัดท้าวโคตรเล่าว่า ตอนที่กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะตัวโบสถ์ ได้ถอดไม้เหล่านี้ลงมา แต่เมื่อประกอบเข้าใหม่ปรากฏว่ามีเหลืออยู่อีก 2 แผ่น ทำให้ไม่แน่ใจว่า ที่นำไปติดนั้นได้ติดตามลำดับอย่างของเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ ครั้งที่บูรณะใบเสมารอบโบสถ์ซึ่งของเดิมทำด้วยหินปะการัง แต่ละหลักมีลวดลายไม่ซ้ำกันปรากฏว่า ช่างได้นำปูนมาพอกกลบ และทำลวดลายเหมือนกันหมด ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีก อาทิกุฏิไม้ตกแต่งด้วยลายฉลุงงดงาม อยู่หลังหอระฆัง นอกจากนี้ บริเวณตอนเหนือของวัดยังเป็นตลาดเล็กๆ บรรยากาศเป็นแบบพื้นบ้าน มีเสน่ห์และน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว





9. วัดสวนหลวง

         ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชภายในเขตเมืองพระเวียงอันเป็นเมืองโบราณ สิ่งสำคัญของวัดนี้ คือวิหารที่มีผนังตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบนูนต่ำ






10. วัดสวนป่าน

         อยู่ใกล้สามแยกหอนาฬิกา ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมแบบตะวันตกงดงามมาก เป็นผลงานของแนบ ทิชินพงศ์ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปชาวนครศรีธรรมราช






11. เจดีย์ยักษ์

         เจดีย์สูงใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเจดีย์พระบรมธาตุ อยู่ข้างสำนักงานเทศบาลนครศรีธรรมราช บริเวณวัดเจดีย์เดิมซึ่งร้างไปแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างโดยโคทคีรีเศรษฐีชาวมอญ กับบริวารที่อพยพหลบภัยมาอาศัยเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ ปี 1546(ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช)






12. กุฎิทรงไทยวัดวังตะวันตก
         ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน บริเวณที่เชื่อว่าตรงข้ามกับวังตะวันออกอันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมปราง เดิมเป็นอุทยาน ต่อมาเจ้าพระนคร (น้อย) ยกวังตะวันออก และอุทยานตรงข้ามให้เป็นวัดเช่นเดียวกัน จึงเป็นวัดวังตะวันตก พ.ศ. 2431 พระครูกาชาด (ย่อง) พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฎิขึ้นหมู่หนึ่ง เป็นเรือนเครื่องสับ 3 หลัง มีหลังคาจั่ว แต่ละหลังคาคลุมเชื่อมต่อกัน ตัวเรือนฝาปะกน ตามประตู หน้าต่างและช่องลม ประดับด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร ปี พ.ศ. 2535 สมาคมสถาปนิก สยามคัดเลือกกุฎิวัดวังตะวันตกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม






13. สระล้างดาบศรีปราชญ์

         สระน้ำเก่าแก่ เชื่อว่าเป็นสระที่ใช้ล้างดาบเล่มที่ใช้ประหารศรีปราชญ์เป็นกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีความผิดจึงถูกเนรเทศมายังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อศรีปราชญ์ทำความผิดอีกครั้งหนึ่ง พระยานครศรีธรรมราชจึงได้สั่งประหารชีวิต ปัจจุบันสระล้างดาบศรีปราชญ์ ได้รับการปรับปรุงใหม่ อยู่ในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช






14. เก๋งจีนวัดประดู่และวัดแจ้ง

         ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินใกล้กับสนามกีฬาจังหวัด ก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นที่ประดิษฐาน บัวบรรจุอัฐิของพระยานคร และเชื่อว่ารวมถึงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย






15. ศาลาโดหก หรือศาลาประดู่หก

         อยู่ริมถนนราชดำเนิน เดิมเป็นศาลานอกกำแพงเมืองตรงประตูชัยเหนือ อันเป็นที่พักของคนเดินทาง ซึ่งเข้าเมืองไม่ทัน เพราะปะตูเมืองปิดเสียก่อน เดิมศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างต้นประดู่ (ต้นโด) หกต้น ชาวนครเรียกว่า "หลาโดหก" ศาลาหลังที่มีอยู่ทุกวันนี้สร้างขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยอยู่ริมถนนราชดำเนิน ส่วนต้นประดู่ทั้งหกต้นได้ตายไปหมดแล้ว ทางเทศบาลจึงปลูกขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประดู่ทั้งหกต้น






16. กำแพงเมือง

         อยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นกำแพงที่ซ่อมขึ้นใหม่ตามรูปเดิมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการบูรณะเพิ่มเติมขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2533 เป็นแนวขนานไปกับคูเมือง ตั้งแต่ป้อมประตูชัยเหนือ หรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออก ยาวประมาณ 100 เมตร






17. สนามหน้าเมือง

         ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นสนามรบในอดีต ต่อมากลายเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมทั้งของรัฐและราษฎร เช่น เคยใช้เป็นที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่าง ๆ เป็นที่ประกอบพิธีสงกรานต์ ฝึกทหาร และยุวชนทหาร และจัดงานประเพณีที่สำคัญของชาวนครรวมทั้งงานรื่นเริงอื่น ๆ






18. บ้านหนังตะลุงสุชาต
         ทรัพย์สิน เลขที่ 10/18 ถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว(ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม อวอร์ด) ประจำปี 2539 รางวัลดีเด่นประเภทวัฒนธรรมและโบราณสถาน บริเวณบ้านหนังตะลุงได้จัดแบ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง การแกะรูปหนังตะลุง การแสดงหนังตะลุงอย่างครบวงจร นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าชมและศึกษาศิลปวัฒนธรรมได้ทุกวันโทร. (075) 346394






19. อนุสาวรีย์วีรไทย
         หล่อด้วยทองแดงรมดำ เป็นรูปทหารสองมือจับปืนติดดาบเตรียมแทง ชาวบ้านเรียกว่า "จ่าดำ" หรือ "เจ้าพ่อดำ" สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของทหารไทยในภาคใต้ที่เสียชีวิตในการปะทะกับทหารญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ประดิษฐานอยู่บนถนนราชดำเนินในค่ายวชิราวุธอันเป็นที่ตั้งกองทัพภาคที่ 4 ปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในบริเวณค่ายวชิราวุธยังมีห้องประชุม บ้านรับรอง สนามกอล์ฟ สนามยิงปืนและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกด้วย






20. พิพิทธภัณฑ์เมือง

          อยู่ตรงข้ามสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติของเมืองนครฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่ทันสมัย เช่น การค้าขายในอดีต ประวัติบุคคลสำคัญ อาณาจักร วีถีชีวิต ฯลฯ สอบถามข้องมูลโทร 075-358261 (หยุดวันจันทร์)






21. สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)

         สวนสาธารณะขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 1,257 ไร่ ตั้งอยู่หลังสนามกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของ "สวนราชฤดี" ในสมัย ร.5 ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 มี สวนสัตว์เปิด สวนนกนานาชนิด สวนสุขภาพ รวมทั้งทะเลสาบซึ่งเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำ ที่อพยพมาจากถิ่นอื่นในช่วงมกราคมถึงมีนาคม ของทุกปี






22. บางปู
         ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กม. อยู่ริมถนนบริเวณสามแยกบางปู เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา เดิมบริเวณนี้จะมีการผลิตเฉพาะอิฐและกระถางดินเผาเท่านั้น แต่ปัจจุบันช่างปั้นจากหมู่บ้านโมคลานได้ย้ายออกมาตั้งร้านผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผา ได้รับการปรับปรุงรูปแบบและคุณภาพให้มีหลากประเภทมากยิ่งขึ้น

 

map thai

map eng



สำนักงานเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
Nakhon Si Thammarat Municipality

tel. +66-7580-9571, แฟ็กซ์ +66-7534-7405
E-mail adress: saraban_03800102@dla.go.th
POWERBYICTCENTER

ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : saraban_03800102@dla.go.th

สถิติจำนวนผู้เข้าชม